Talent & Education

การปิดช่องว่างด้านทักษะ: การพัฒนาอาชีพการงานและระบบเศรษฐกิจของไทย

December 07, 2023

Global

การปิดช่องว่างด้านทักษะ: การพัฒนาอาชีพการงานและระบบเศรษฐกิจของไทย

December 07, 2023

Global
Ritu Bhandari

Manager

Ritu Bhandari is a Manager with the Policy & Insights team at Economist Impact. She has over six years of experience working in a wide range of public policy topics including education, technology and sustainability. At Economist Impact, she manages research programs for private-sector, governments and NGO clients in Asia, covering topics like food security, climate & sustainability, and globalisation and trade. She holds a Master’s degree in Public Policy from Lee Kuan Yew School of Public Policy, National University of Singapore, where she specialised in economic policy analysis.

Economist Impact ซึ่งสนับสนุนโดย Google ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานจำนวน 1,375 คนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) (โดย 100 คนในจำนวนนี้เป็นพนักงานจากประเทศไทย) ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2022 ถึงมกราคม 2023 นอกจากนี้ ยังได้สัมภาษณ์บรรดานายจ้างและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทั่วทั้งภูมิภาคนี้ เพื่อให้เข้าใจถึงมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับช่องว่างด้านทักษะ รวมทั้งแรงจูงใจในการสร้างทักษะใหม่และการเพิ่มพูนทักษะ

ผู้ตอบแบบสำรวจมาจาก 14 ตลาดในภูมิภาคนี้ โดยที่ 11.8% เป็นคนเจนซี (Gen Z) (ผู้ที่เกิดในปี 1997-2012), 63.2% เป็นคนกลุ่มมิลเลนเนียล (เกิดในปี 1981-1996) และ 25% เป็นคนเจนเอ็กซ์ (Gen X) (เกิดในปี 1965-1980) บุคคลเหล่านี้ทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ บรรดานายจ้างและลูกจ้างยังขาดความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องของทักษะในอนาคตและวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะดังกล่าว ในบางกรณี ยังมีความคาดหวังที่ไม่ตรงกันระหว่างสิ่งที่นายจ้างต้องการกับสิ่งที่พนักงานเห็นว่ามีความสำคัญอีกด้วย การทำความเข้าใจถึงช่องว่างเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงงานที่เตรียมพร้อมสำหรับระบบเศรษฐกิจในอนาคต

บทความนี้ (ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดรายงานเกี่ยวกับตลาด 12 แห่ง) จะพิจารณาประเด็นต่างๆ เหล่านี้ในประเทศไทย รายงานชุดนี้เป็นส่วนเสริมของเอกสารงานวิจัยที่พิจารณาถึงความจำเป็นในการสร้างทักษะใหม่และการเพิ่มพูนทักษะทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

สรุปข้อมูลที่สำคัญ

  • ทักษะด้านดิจิทัล (56%) ถูกมองว่าเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกจ้างคนไทย ตามมาติดๆ ด้วยทักษะการวิเคราะห์ (51%) ภายในหมวดหมู่ทักษะด้านดิจิทัลที่มีขอบเขตกว้างขวางนี้ ขีดความสามารถขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและการสร้างเป็นภาพ (80.4%), การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (78.6%) และการตลาดดิจิทัล (71.4%) เป็นสิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญอย่างมาก เกือบสองเท่าของผู้ตอบแบบสำรวจ (60.7%) มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญต่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (ML) เมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ย (32.8%) ของเอเชีย-แปซิฟิก (APAC)
     
  • แรงจูงใจของพนักงานในการสร้างทักษะด้านดิจิทัลนั้นได้รับการผลักดันจากหลักสูตรออนไลน์ฟรีที่มีให้เลือกมากมาย (29%) และเพื่อปฏิบัติงานในบทบาทหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น (28%)
     
  • แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว พนักงานมองว่านายจ้างคือกุญแจสำคัญต่อความจำเป็นในการเพิ่มพูนทักษะของพวกเขา เช่น การมอบสิ่งจูงใจทางการเงินในการสร้างทักษะและการยกย่องชมเชย (52% ในแต่ละด้าน) แต่ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่ง (58%) รู้สึกว่ารัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการทำให้พวกเขาตระหนักถึงทักษะในอนาคตและแนวโน้ม

ประเทศไทยได้เปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้ต่ำมาสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยสามารถลดอัตราความยากจนลงอย่างมีนัยสำคัญและสร้างงานจำนวนหลายล้านตำแหน่งภายในแต่ละรุ่นอายุ1 ปัจจุบันไทยกำลังมุ่งที่จะเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อให้สามารถสร้างผลิตภาพและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และมีสัญญาณหลายประการที่บ่งชี้ว่าไทยกำลังดำเนินอยู่บนเส้นทางนี้แล้ว ในปี 2020 European Centre for Digital Competitiveness ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลสูงสุดเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก2 นอกจากนี้ เป็นที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลจะช่วยเพิ่มรายได้จำนวน 79.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยภายในปี 20303

การเตรียมความพร้อมของตลาดแรงงาน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จจากการเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลนี้ ในระหว่างปี 2010 ถึง 2020 มูลค่าของภาคธุรกิจบริการด้านดิจิทัลของไทยได้ขยายตัวราว 37% แต่จำนวนแรงงานในสาขาดิจิทัลเพิ่มขึ้นเพียง 26%4 การขาดทักษะทางเทคโนโลยีที่สอดคล้องกันซึ่งจะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลนี้ จะเป็นปัจจัยที่จำกัดความสามารถของธุรกิจในการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาวะขาดแคลนเหล่านี้เห็นได้ชัดในเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และวิทยาการข้อมูล6

 

การมุ่งเน้นอย่างจริงจังไปที่ทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง

จากผลการสำรวจของ Economist Impact พบว่า พนักงานคนไทย 56% มองว่าความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลคือทักษะที่สำคัญที่สุดที่พนักงานควรมีในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มในระดับภูมิภาค ประเทศไทยนั้นให้ผลสำรวจที่แตกต่างออกไปในแง่ของประเภททักษะด้านดิจิทัลที่ถูกมองว่าสำคัญกว่า แม้ว่าพนักงานในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิกจะจัดอันดับให้ทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลเป็น “ทักษะที่ต้องมี” เป็นลำดับต้นๆ แต่พนักงานในไทยกลับให้ความสำคัญกับทักษะขั้นสูงมากกว่า เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและการสร้างเป็นภาพ (80.4%), การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (78.6%) และการตลาดดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซ (71.4%) นอกจากนี้ พนักงานส่วนใหญ่ (60.7%) ยังมองว่า ทักษะด้าน AI และ ML เป็นสิ่งที่ต้องมี ซึ่งคิดเป็นเกือบสองเท่าของค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาค (32.8%)

ผลการวิจัยเหล่านี้สอดคล้องกับการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ที่เปิดเผยว่า นายจ้าง 96% ทำการจ้างงานในตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงเพื่อตอบรับแผนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลขององค์กร7 ความต้องการที่ขยายตัวนี้ยังนำไปสู่การพุ่งขึ้นของเงินเดือนของพนักงานที่มีทักษะเหล่านี้ในไทย และเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล8

 

รูปที่ 1: ทักษะด้านดิจิทัลและทักษะการวิเคราะห์คือสิ่งที่พนักงานคนไทยให้ความสำคัญสูงสุด

ทักษะประเภทใดที่คุณคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับพนักงานในภาคธุรกิจของคุณและควรแสวงหาทักษะดังกล่าวในปัจจุบัน (% ของผู้ตอบแบบสำรวจ)

ที่มา: Economist Impact, 2023

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การมุ่งเน้นที่ทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง มีแนวโน้มที่จะได้รับการกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วของส่วนงานทางธุรกิจต่างๆ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และหลังจากนั้น ในการสำรวจของ Deloitte ในปี 2022 พบว่าบริษัทจำนวนมากกว่าครึ่งในไทยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เทียบกับที่เคยมีเพียง 12% ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด และทำให้ทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงกลายเป็นสิ่งที่บรรดาผู้บริหารของบริษัทและพนักงานให้ความสำคัญสูงสุด

 

รูปที่ 2: การวิเคราะห์ข้อมูล การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการตลาดดิจิทัล ได้รับความสนใจมากกว่าทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัล

ทักษะด้านดิจิทัลประเภทใดที่พนักงานในภาคธุรกิจของคุณต้องมี, ควรมี หรือไม่จำเป็นต้องมีในปัจจุบัน (% ของผู้ตอบแบบสำรวจ)

ที่มา: Economist Impact, 2023

ในขณะที่ประเทศยังคงก้าวสู่ระบบออนไลน์ ขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จะช่วยสร้างความมั่นใจถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และประเทศไทยเองก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ ไทยต้องเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วงปี 2021 ถึง 20229 ด้วยเหตุนี้ พนักงาน 8 ใน 10 (78.6%) ที่เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็นนี้มองว่า การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์คือทักษะที่ต้องมี ในขณะที่ธุรกิจกำลังมุ่งสู่ระบบดิจิทัล พวกเขาก็จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามเหล่านี้เพิ่มขึ้น และทักษะในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางออนไลน์เหล่านี้

ทักษะอื่นๆ ที่พนักงานมากกว่ากึ่งหนึ่งในการสำรวจความคิดเห็นนี้ มองว่าสำคัญ ได้แก่ ทักษะการวิเคราะห์ เช่น การแก้ปัญหา การบริหารจัดการโครงการ และการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ผลการสำรวจพบว่าพนักงานของไทยให้ความสำคัญกับคุณค่าของทักษะด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากแนวโน้มของภูมิภาคนี้ (26% เทียบกับ 17.7%) ซึ่งอาจเป็นเพราะข้อบังคับใหม่ที่มีต่อบริษัทมหาชนในการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ออกโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของไทย10 นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ทักษะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การรายงานเรื่องความยั่งยืน การบริหารจัดการธุรกิจที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (ตามที่ผู้ตอบแบบสำรวจของเรารายงาน) จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเพื่อตอบสนองเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในอนาคตของไทย11

 

แรงจูงใจและอุปสรรคในการสร้างทักษะ

พนักงานในไทยส่วนใหญ่ได้รับการกระตุ้นให้แสวงหาทักษะด้านดิจิทัลเนื่องจากมีหลักสูตรออนไลน์ที่เปิดให้บริการฟรี (29%), ความต้องการที่จะมีขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งงานในปัจจุบันให้ดีขึ้น (28%) พนักงานหนึ่งในสี่มองว่าทักษะเหล่านี้คือทักษะพื้นฐานจะช่วยสร้างความก้าวหน้าโดยส่วนตัวและทางอาชีพของตน 

ท่ามกลางแรงจูงใจดังกล่าว พนักงานต้องเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มพูนทักษะ การไม่มีเวลาคืออุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการสร้างทักษะด้านดิจิทัล (34%) และทักษะการวิเคราะห์ (33%) งานวิจัยในปี 2021 ที่ทำการประเมินความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงานในเมืองใหญ่ๆ ได้จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ผู้คนทำงานมากเกินไปเป็นอันดับสามในทั่วโลก โดยเกือบ 20% ของประชากรในกรุงเทพฯ ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์12

อุปสรรคอื่นๆ ในการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่ๆ ได้แก่ การขาดโอกาสในการฝึกฝนทักษะเหล่านี้ (29%) และการไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (25%) เพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรดังกล่าว แม้ว่าพนักงานคนไทยจะมุ่งเน้นที่การมุ่งสู่ระบบดิจิทัลของธุรกิจต่างๆ แต่เกือบหนึ่งในสี่ของประชากรยังคงขาดช่องทางเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตพื้นฐาน13 และแม้ว่าเกือบหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจจะกล่าวว่า หลักสูตรออนไลน์ฟรีนั้นดึงดูดใจพวกเขา แต่หนึ่งในสี่ (25%) ก็ระบุว่าค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้

 

แนวทางการร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะของพนักงาน

ทั้งนายจ้างและรัฐบาลคือกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการเพิ่มพูนทักษะของพนักงาน และมีบทบาทสำคัญมากในการปิดช่องว่างด้านข้อมูลที่ทำให้เกิดจุดบอดด้านทักษะ

ผู้ตอบแบบสำรวจโดยส่วนใหญ่ (79%) กล่าวว่า พวกเขามีความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในตลาดแรงงาน การระบุถึงทักษะในอนาคตนั้นมีความซับซ้อน และการตามให้ทันแนวโน้มของตลาดที่เกี่ยวข้องก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเรื่องท้าทาย 14 สำหรับพนักงานส่วนใหญ่ พนักงานเกือบครึ่งหนึ่งมองว่า นายจ้างของตนมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อบทบาทหน้าที่ต่างๆ

เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ นายจ้างและรัฐบาลควรจัดทำแผนผังทักษะที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบันและในอนาคต และสื่อสารให้แรงงานทราบถึงข้อมูลนี้ด้วยตัวเลือกต่างๆ ของเส้นทางในการเพิ่มพูนทักษะที่แตกต่างกันไป สอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก เช่น ธุรกิจต่างๆ ควรพยายามที่จะมอบสิ่งจูงใจให้กับการเรียนรู้จากการทำงานเพื่อช่วยรักษาบุคลากรที่มีความสามารถและอุดช่องว่างด้านทักษะ ผู้ตอบแบบสำรวจมองว่า นายจ้างมีความสำคัญในด้านต่างๆ ตั้งแต่การมอบสิ่งจูงใจทางการเงิน (52%) และการยกย่องชมเชยผ่านการรับรอง (52%) สำหรับการสร้างทักษะนั้น

 

รูปที่ 3: พนักงานคนไทยคาดหวังมากที่สุดจากนายจ้างของตน

ในความเห็นของคุณ ใครมีหน้าที่รับผิดชอบในการสนับสนุนพนักงานในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ (% ของผู้ตอบแบบสำรวจ)

ที่มา: Economist Impact, 2023

พนักงาน 3 ใน 10 (29%) มองว่ารัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาช่องทางเข้าถึงโปรแกรมการสร้างทักษะต่างๆ โดยในการดำเนินการเรื่องนี้ ผู้วางนโยบายสามารถทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ทั่วทุกส่วนของการพัฒนาทักษะ เช่น มหาวิทยาลัย และธุรกิจต่างๆ วิธีนี้ยังส่งเสริมการยกย่องชมเชยที่สำคัญที่บรรดาผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มเติม “แรงผลักดันจากภาครัฐสามารถโน้มน้าวให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ความร่วมมือและปรับให้สอดคล้องกับความจำเป็นของอุตสาหกรรม” เอกพล ณ สงขลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคลากรของบริษัท ไทยเบฟ กล่าว ตัวอย่างหนึ่งก็คือความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับภาคเอกชนในการนำเสนอหลักสูตรต่างๆ เกี่ยวกับทักษะด้านเทคโนโลยี 5G ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาสมาร์ทซิตี้15

เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของไทยก้าวเข้าสู่การแข่งขันทางดิจิทัล จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่พนักงานจะต้องแสวงหาทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง ปัจจุบัน พนักงานคาดหวังว่านายจ้างของตนจะให้การสนับสนุนที่สำคัญเพื่อตอบสนองความจำเป็นในการสร้างทักษะใหม่ของพนักงาน นอกจากนี้ รัฐบาลก็มีบทบาทสำคัญโดยพนักงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง (58%) ล้วนพึ่งพาโครงการการสร้างความตระหนักของภาครัฐเพื่อให้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับทักษะในอนาคต เงินอุดหนุนของรัฐเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้แก่ทั้งธุรกิจและพนักงาน จะช่วยผลักดันความสนใจที่มีต่อทักษะต่างๆ ที่สำคัญในเวลาหนึ่งๆ ในทางกลับกัน สิ่งนี้ก็จะช่วยส่งเสริมความพยายามของประเทศในการมุ่งเน้นที่การพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และความจำเป็นในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

3 อ้างแล้ว.

8 อ้างแล้ว.

Enjoy in-depth insights and expert analysis - subscribe to our Perspectives newsletter, delivered every week